ข้าวเย็น ๒

Trigonostemon verticillatus (Jack) Pax ex Pax et K. Hoffm.

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงเวียนออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสีม่วงเข้ม ผลแบบผลแห้งแตก มี ๓ พู เมล็ดทรงรูปไข่หรือรูปทรงกลม

ข้าวเย็นชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๖ ม. กิ่งก้านรูปทรงกระบอกหรือเป็นสัน ผิวเกือบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๘.๕ ซม. ยาว ๑๒-๓๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง เส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๒๑ เส้น ก้านใบยาว ๐.๑-๒ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบ เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๑ ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ มม. มีขน ดอกสีม่วงเข้ม ดอกเพศผู้มีก้าน ยาว ๑.๒-๑.๓ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๖ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง ขอบเป็นชายครุย กลีบดอก ๕ กลีบ รูปช้อนแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๒-๓ มม. ยาว ๓-๓.๒ มม. เกลี้ยง ขอบเป็นชายครุย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร ยาว ๑.๑-๑.๒ มม. ส่วนปลายแผ่ออกไม่เชื่อมติดกัน ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ ขอบจานฐานดอกเป็นคลื่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก มี ๓ พู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีขนกำมะหยี่ละเอียด พบน้อยที่ผิวเกลี้ยงเมล็ดทรงรูปไข่หรือรูปทรงกลม

 ข้าวเย็นชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบในป่าดิบตามริมน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวเย็น ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trigonostemon verticillatus (Jack) Pax ex Pax et K. Hoffm.
ชื่อสกุล
Trigonostemon
คำระบุชนิด
verticillatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
- Pax, Ferdinand Albin
- Hoffman, Kathe (Kaethe)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William (1795-1822)
- Pax, Ferdinand Albin (1858-1942)
- Hoffman, Kathe (Kaethe) (1883-1931)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต